การเข้าเรียนครั้ง ที่5
วันอังคารที่ 2 ธันวาคม พ.ศ.2556 เวลา 11.30น. - 14.00น.
การเรียนการสอน
การจัดประสบการณ์ทางศิลปะสำหรับเด็ก
ถ้าเราเห็นว่ากิจกรรมทางศิลปะมีประโยชน์สำหรับเด็ก แล้วเราควรจะจัดกิจกรรมให้กับพวกเขาอย่างไรดีล่ะ
ดังที่พอทราบกันว่ากิจกรรมทางศิลปะมีประโยชน์ในการช่วยพัฒนาเด็กในหลายๆ ด้าน การจัดประสบการณ์ทางศิลปะให้กับเด็กจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ควรส่งเสริมให้เด็กได้แสดงออกทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน การประกอบกิจกรรมทางศิลปะสำหรับเด็กอาจไม่จำเป็นต้องทำทุกวัน อาจใช้เวลาว่างหลังเลิกเรียนและทำการบ้านเสร็จเรียบร้อยแล้ว หรือเป็นกิจกรรมร่วมกันระหว่างเด็กและผู้ปกครองในวันเสาร์อาทิตย์ เมื่อเด็กมีความสนใจที่จะแสดงออกผู้ปกครองไม่ควรขัดขวาง เช่น เด็กเล็กๆ เมื่อจับดินสอได้มักจะขีดเขียนไปทั่ว พื้นบ้าน ฝาผนัง ฯลฯ ผู้ปกครองบางคนที่ไม่เข้าใจอาจดุด่าว่าเด็กทำให้เด็กกลัว คิดว่าสิ่งที่ตนทำนั้นผิด ทางที่ดีควรหาอุปกรณ์ที่เหมาะสม เช่น กระดาษ กระดาน สีเทียน ฯลฯ เพื่อให้เด็กได้มีพื้นที่ในการแสดงออกอย่างอิสระ
วิธีการจัดประสบการณ์ศิลปะสำหรับเด็ก ควรมุ่งเน้นในการจัดสภาพแวดล้อมทางการเรียนเพื่อส่งเสริมให้เด็กได้มีโอกาสสำรวจ ทดลอง ค้นคว้าจากวัสดุนานาชนิด ด้วยวิธีการเรียนแบบแก้ปัญหา แทนการกระทำตามตัวอย่างและการเลียนแบบ เลิศ อานันทะ ได้เสนอวิธีการสอนศิลปะโดยการเปรียบเทียบการสอนแนวเก่ากับแนวใหม่ ดังนี้
ประเภทของกิจกรรมศิลปะสำหรับเด็ก
พีรพงศ์ กุลพิศาลได้เสนอแนวคิดเกี่ยวกับประเภทของกิจกรรมศิลปะสำหรับเด็กว่าเป็นกิจกรรมที่ใช้ความรู้สึกประกอบกับวัสดุและเทคนิควิธีต่างๆ เพื่อผลิตเป็นผลงานออกมา ดังนั้นการจัดประเภทของกิจกรรมทางศิลปะควรแบ่งตามลักษณะของผลงานที่ให้เด็กสร้างสรรค์เป็นหลักได้แก่
1. กิจกรรมศิลปะสองมิติ หมายถึง กิจกรรมทางศิลปะที่มุ่งให้เด็กสร้างสรรค์ภาพบนระนาบวัสดุที่แบนๆ เช่น กระจก กระดาษ ผ้า ผนังปูน ผืนทราย ฯลฯ โดยใช้วิธีการวาดเส้น ระบายสี พิมพ์หรือกดประทับให้เป็นสี ปะติดด้วยกระดาษสี เป็นต้น ซึ่งกิจกรรมประเภทนี้ได้แก่ การวาดภาพด้วยนิ้วมือหรือมือ การพิมพ์ภาพด้วยเศษวัสดุต่างๆ การวาดภาพด้วยดินสอสี สีเทียน สีโปสเตอร์ เป็นต้น ผลงานศิลปะประเภทนี้ดูแล้วแบนราบมีเฉพาะมิติของความกว้าง - ยาว
2. กิจกรรมศิลปะสามมิติ หมายถึง กิจกรรมที่มุ่งเน้นให้เด็กสร้างสรรค์ภาพให้มีลักษณะลอยตัว นูน หรือเว้าลงไปในพื้นโดยใช้วัสดุและเทคนิควิธีต่างๆ ที่เหมาะสมกับวัสดุนั้นๆ เช่น การปั้นทราย ดินเหนียว ดินน้ำมัน กระดาษ แป้ง ฯลฯ โดยประกอบวัสดุต่างๆ เข้าด้วยกัน ขั้นตอนการทำงานในการจัดกิจกรรมประเภทนี้ไม่ควรมีขั้นตอนที่ซับซ้อน ต้องสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว ง่ายและไม่เป็นอันตราย โดยวัสดุที่นำมาประกอบนั้นควรเป็นวัสดุประเภทกล่องกระดาษ เมล็ดพืช ลูกปัด เศษไม้ ใบไม้ สามารถใช้กาวติดได้ง่าย เป็นต้น
3. กิจกรรมศิลปะผสมผสานสองมิติ สามมิติ หมายถึง กิจกรรมที่ให้เด็กได้สร้างสรรค์ภาพโดยใช้วัสดุและเทคนิควิธีทางศิลปะทั้งสองมิติและสามมิติรวมกัน เช่น ใช้สีโปสเตอร์ระบายรูปปั้น ดินเหนียวหรือแป้งที่แห้งแล้ว หรือระบายสีตกแต่งกล่อง
การจัดประสบการณ์ทางศิลปะให้กับเด็กปฐมวัย
การจัดกิจกรรมทางศิลปะให้กับเด็กปฐมวัย ควรตั้งจุดประสงค์ในการเรียนรู้ให้กับเด็กโดยให้สอดคล้องกับพัฒนาการของเด็ก จากนั้นจึงเป็นการกำหนดเนื้อหาและวางแผนกิจกรรมที่จะช่วยพัฒนาทักษะเด็กในด้านต่างๆ แม้ว่าจะมีการเตรียมการในขั้นตอนนี้อย่างดี แต่เด็กก็ยังเป็นเด็กที่มักมีนิสัยซุกซนอยากรู้อยากเห็นสิ่งรอบตัว การสร้างแรงจูงใจให้อยากเข้าร่วมกิจกรรมจึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ เช่น อาจเป็นการเล่านิทานให้ฟัง ฉายภาพยนตร์ให้ดู เปิดเพลงให้ฟัง พาไปดูของจริง การให้เด็กได้ใช้อุปกรณ์ใหม่ๆ ฯลฯ ล้วนเป็นวิธีการที่เราต้องนำมาใช้ทั้งสิ้น สิ่งเร้าหรือสื่อต่างๆ นี้มีส่วนช่วยให้เด็กได้พัฒนาทางด้านความคิดรวบยอดในแต่ละเรื่องเพื่อนำไปควบคุมเส้นที่ขีดเขี่ยออก บางเรื่องจำเป็นต้องให้ประสบการณ์ตรงกับเด็กเพื่อสร้างความเข้าใจโดยไม่ต้องมีคำอธิบายมากมาย เช่น เรื่องของสุนัข กระต่าย แมลง ยานพาหนะ ฯลฯ การให้เด็กได้เห็นของจริงและเปิดโอกาสให้เด็กพินิจพิเคราะห์อย่าละเอียดถี่ถ้วน สัมผัสสิ่งนั้นด้วยมือ ฟังเสียงจริงๆ ดมกลิ่นจริง ประสบการณ์เหล่านี้จะช่วยพัฒนาความคิดรวบยอดของเด็กที่มีต่อสิ่งต่างๆ ได้ถูกต้องมากยิ่งขึ้น แต่ ต้องคำนึงว่าเด็กเล็กในวัยนี้จะเรียนรู้ได้มากจากสิ่งของทีละอย่างซึ่งแตก ต่างจากเด็กโตหรือผู้ใหญ่ที่สามารถรวบรวมความคิดจากสิ่งของหลายๆ สิ่งได้ในเวลาเดียวกัน ถ้ามีสิ่งที่ต้องเรียนรู้มากมายในเวลาเดียว เด็กจะเกิดความท้อใจ สับสนในกรณีที่เด็กไม่รู้จะวาดรูปอะไรดี ผู้สอนต้องทำหน้าที่เป็นตัวเร้า วิธีที่นิยมใช้คือการแนะนำหัวข้อให้วาด เช่น สุนัขของฉัน, ครูของฉัน, บ้านของฉัน, คุณแม่ทำอาหาร, พระจันทร์เต็มดวง, รถของคุณพ่อ, ของเล่นของฉัน, เพื่อนที่โรงเรียน, พระจันทร์เต็มดวง, ปลาในตู้กระจก ฯลฯ
วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้สร้างงานศิลปะก็เป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน เมื่อเด็กได้เห็นวัสดุอุปกรณ์ที่แตกต่างออกไป ทำให้เขาอยากหยิบจับขึ้นสัมผัส ทดลองใช้และเริ่มคิดหัวข้อในการสร้างงานศิลปะ
การเตรียมห้องเรียนศิลปะก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน ห้องเรียนที่ดีควรมีโต๊ะเก้าอี้ที่ได้สัดส่วนเหมาะสมกับขนาดร่างกายของเด็กและสามารถเคลื่อนย้ายได้ตลอด เนื่องจากบางกิจกรรมอาจจำเป็นต้องใช้โต๊ะมาต่อกันเพื่อให้ได้พื้นที่กว้างหรืออาจเป็นการใช้อุปกรณ์ร่วมกัน จำนวนของโต๊ะเก้าอี้ควรเพียงพอกับจำนวนเด็ก โต๊ะที่ใช้ปฏิบัติงานควรลบมุมให้เรียบร้อย พื้นโต๊ะควรทำจากวัสดุคงทน เช่น โฟไมก้า หรือแผ่นโลหะเพื่อง่ายต่อการทำความสะอาด ในห้องเรียนควรมีตู้เก็บอุปกรณ์หรือสื่อการสอนศิลปะโดยเฉพาะ มีที่ตากผลงานเมื่อยังไม่แห้ง และที่ติดตั้งแสดงผลงานที่ควรได้รับการชื่นชม อ่างล้างมือสำหรับทำความสะอาด สบู่ ผ้าเช็ดมือ ถังขยะ ฯลฯ กระดานไม้ขนาดเล็กสำหรับเด็กรองเขียนหรือเป็นฐานของงานปั้น สุดท้ายคือผ้าคลุมกันเปื้อน เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กๆ ต้องพะวงกับการรักษาความสะอาดจนขาดสมาธิในการทำงาน
เอกสารอ้างอิง
ชัยณรงค์ เจริญพานิชย์กุล. กิจกรรมศิลปะสำหรับเด็กอนุบาล. กรุงเทพฯ : แปลนพับลิชชิ่ง, 2532.
พีรพงศ์ กุลพิศาล. สมองลูกพัฒนาได้ด้วยศิลปะ . กรุงเทพฯ : เคล็ดไทย, 2545.
เลิศ อานันทะ, "แนวคิดใหม่เกี่ยวกับศิลปะเด็ก,"การแสดงศิลปะเด็กแห่งประเทศไทยครั้งที่ 3พ.ศ.2525 . กรุงเทพฯ : ไม่ปรากฏที่พิมพ์, 2525.
วิรุณ ตั้งเจริญ. ศิลปศึกษา . กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์, 2539.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น